ขั้นตอนง่ายๆ หาก อยาก ตรวจเลือด หาเชื้อเอชไอวี ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 440,000 คน โดยมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตามประชากรกลุ่มเสี่ยง (อายุ 15 ปีขึ้นไป) คือ หญิง-low risk 30%, ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) 29%, ชาย-low risk 16%, ผู้ใช้บริการทางเพศ (clients) 8%, พนักงานบริการชาย (MSW) 7%, พนักงานบริการหญิง (FSW) 3%, บุคคลข้ามเพศ (TG) 4% และผู้ใช้สารชนิดฉีด (IDU) 2%

ทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับเอชไอวี

จากข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557-2558 (Kriengkrai Srithanaviboonchai, et, al. (2017)) พบว่าทัศนคติของคนไทยที่ยังคงมีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีร้อยละดังต่อไปนี้
– ร้อยละ 58.6 ยังคงมีทัศนคติในการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ
– ร้อยละ 38.2 ยังคงรู้สึกอายถ้าคนในครอบครัวติดเชื้อหรือเป็นเอดส์
– ร้อยละ 76.9 คนส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะไปตรวจเลือดหาเชื้อ
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เรารับรู้ว่า คนไทยนั้นยังไม่กล้าและลังเลมากๆ ที่จะไปตรวจเอชไอวี ประเทศไทยจึงเพิ่มโอกาสให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการตรวจเอชไอวีได้มากขึ้น โดยตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง เพียงมีบัตรประชาชนและจิตใจที่พร้อมจะรับทราบผล

ขั้นตอนง่ายๆ หาก อยาก ตรวจเลือด หาเชื้อเอชไอวี

1. พิจารณาว่าตนเองได้รับความเสี่ยง มานานเท่าไหร่แล้ว ส่วนใหญ่ควรจะเสี่ยงมากว่า 3 สัปดาห์ แต่หากเสี่ยงมาน้อยกว่านี้ก็สามารถตรวจได้ แต่ขึ้นอยู่กับแพทย์ว่าจะตรวจให้หรือไม่ หรือมีวิธีที่สามารถตรวจได้หรือไม่

2. เลือกสถานพยาบาลที่เราสะดวกไปตรวจ พร้อมทั้งศึกษาข้อมูล หรือโทรสอบถามกับทางสถานพยาบาลนั้นๆ ว่ามีบริการตรวจเอชไอวีฟรีหรือไม่ (ตรวจเอชไอวีฟรี จะอยู่ในโครงการของทางรัฐ ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้) และสอบถามถึงระยะเสี่ยงที่ตรวจได้

3. เตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อม ไม่ต้องอดข้าว อดน้ำ และเตรียมบัตรประชาชนให้พร้อม

4. เดินทางไปถึงสถานพยาบาล แจ้งแผนกคัดกรองผู้ป่วยว่าต้องการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี

5. เข้ารับคำแนะนำ พูดคุย และประเมินความเสี่ยงจากเจ้าหน้าที่ และลงนามในเอกสาร เพื่อแสดงความยินยอมให้ตรวจเลือดหาเชื้อ

6. เข้ารับการตรวจ

7. รอฟังผล อาจใช้เวลานานมากกว่า 30 นาที ขึ้นอยู่กับวิธีตรวจ และจำนวนผู้มารับบริการ (สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ก่อนมารับการตรวจ)

– ผลลบ = ไม่พบเชื้อ หากระยะเวลาที่คุณตรวจนั้น เสี่ยงติดเชื้อมาไม่นาน คุณควรกลับมาตรวจอีกครั้งในระยะ 3-6 เดือน หรืออาจจะตรวจทุกๆ 30 วัน เป็นเวลา 3-4 เดือน สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เป็นเพราะว่าอยากให้มั่นใจ เนื่องจากร่างกายแต่ละคนมีความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของเชื้อไม่เท่ากัน
– ผลบวก = พบเชื้อ แพทย์จะแนะนำคุณเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา แนวทางการใช้ชีวิตต่อไป

การตรวจเอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

การตรวจเอชไอวีมักจะตรวจโดยการเจาะเลือด โดยคำว่าเจาะเลือด ทุกคนอาจจะตกใจ แต่จริงๆ แล้ว คือ การเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเท่านั้น และใช้เลือดในการตรวจเพียงไม่กี่หยด บางครั้งแพทย์อาจจะมีวิธีการตรวจที่ง่ายกว่านั้น คือ การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายหรือเนื้อเยื่อในช่องปาก ในการตรวจหาเอชไอวี ดังนั้นการตรวจเอชไอวีจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

อย. ไทยปลดล็อคชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ที่ทุกคนสามารถหาซื้อมาตรวจได้ ควรจะเป็นชุดตรวจที่มีเลขอย.ของไทย เท่านั้น ไม่ควรสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งไทยไม่ได้รับรองคุณภาพ

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง สามารถตรวจได้เองที่บ้าน ชุดตรวจจะเป็นแบบ Rapid test ใช้งานง่าย และสามารถรู้ผล ทราบผลได้ภายใน 15-20 นาที เป็นชุดตรวจแบบคัดกรองเบื้องต้น ที่สถานพยาบาลต่างๆ นิยมใช้คัดกรองผู้มีความเสี่ยง เพื่อแบ่งเบาภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ในการตรวจยืนยันผล หากตรวจคัดกรอง และพบว่าเป็นผู้มีโอกาสได้รับการติดเชื้อเอชไอวี (ตรวจคัดกรองแล้วผลเป็นบวก) ผู้ตรวจควรเดินทางไปตรวจยืนยันผล ที่โรงพยาบาลและเข้าสู่ระบบการรักษาที่ดีต่อไป

การลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เป็นเรื่องที่ดีที่สุด และสมควรที่จะทำ ดังนั้น ทุกคนจึงควรสวมใส่ถุงยางอนามัย เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศได้ถึง 98% ทั้งนี้หากป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ ได้ ก็สมควรที่จะทำ เพื่อป้องกันตนเอง