ตรวจเอดส์แบบไหนได้ผลแม่นยำที่สุด

ตรวจเอดส์แบบไหนได้ผลแม่นยำที่สุด การตรวจเอชไอวีในปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงบางคนกลับ ไม่ทราบว่า ตนเองได้ติดเชื้อเอชไอวีไปแล้ว ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากที่พบว่าเป็นเช่นนี้ เนื่องจากไม่มีอาการของโรคปรากฎ ไม่ได้สังเกตอาการของโรคในระยะเฉียบพลัน เพราะระยะนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วหายไป กว่าจะทราบว่าป่วยเป็นโรคติดเชื้อเอชไอวี ก็ในตอนที่ระดับของโรคอยู่ในระยะเอดส์แล้ว

การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องใกล้ตัวจริงหรือ? ใครกันบ้างที่ควรต้องตรวจ HIV ?
1. การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน กับผู้ที่เราไม่ทราบผลเลือด (สำหรับผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยมาก ๆ)
2. การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
3. สัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ที่เราไม่ทราบผลเลือด ผ่านทางแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลในส่วนใดของร่างกาย ออรัลเซ็กส์โดยมีแผลในช่องปาก การหลั่งภายใน ทางทวารหนัก
4. ถูกล่วงละเมิดทางเพศมา
5. ชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง
6. บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่นำไปสู่การติดเชื้อHIV ได้
7. หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์
8. ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน
9. ป่วยเป็นวัณโรค
10. ทารกที่เกิดจากมารดาติดเชื้อHIV

การตรวจเอชไอวี ไม่ได้อยู่ในลิสต์การตรวจสุขภาพประจำปี หากผู้ใดมีความต้องการจะตรวจ ต้องระบุหรือแจ้งกับพยาบาล เพื่อที่พยาบาลจะประสานงานให้กับแพทย์ทราบเพื่อความรวดเร็ว หรือแจ้งกับแพทย์โดยตรง แพทย์จะแนะนำและเลือกวิธีตรวจที่เหมาะสม

สิ่งที่แนะนำในการตรวจ คือ ให้ตอบคำถามของแพทย์ตามจริง โดยไม่ต้องเขินอาย จะเป็นผลดีกับคุณมากกว่า

การตรวจเอชไอวีในปัจจุบันมีแบบไหนบ้าง

1. การตรวจเอชไอวีโดยตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี คือ การตรวจหา p24 ที่เป็นโปรตีนของเชื้อ เรียกแบบเป็นทางการว่า HIV p24 antigen testing

การตรวจหาแอนติเจนจะนิยมตรวจในช่วงที่ได้รับความเสี่ยงมาประมาณ 14-15 วันแล้ว ซึ่งในระยะนี้นั้นแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่จะสามารถตรวจพบได้ แต่หากตรวจพบแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี จะต้องตรวจหาแอนติบอดีของเชื้ออีกครั้ง เมื่อผ่าน 21-30 วัน ที่ได้รับความเสี่ยงมา

2. การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV testing) วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากๆ ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน เพราะเป็นการตรวจที่ได้รับความเสี่ยงมาประมาณ 3-4 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเป็นการตรวจที่พ้นระยะฟักตัวของเชื้อมาแล้วหากตรวจในช่วงที่ 30 หรือมากกว่า 30 วัน อีกทั้งการตรวจด้วยวิธีนี้ยังเป็นการตรวจที่เรียกว่าตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดเชื้อเอชไอวีโดยตรง ซึ่งหากเราตรวจแล้วผลออกมาพบหรือไม่พบก็สามารถมั่นใจได้ทันที

3. การตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV testing) และแอนติเจนของเชื้อ (HIV p24 antigen testing) พร้อมกันในชุดตรวจและน้ำยาเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Fourth generation สามารถตรวจได้หลังจากมีความเสี่ยงมาแล้ว 14-15 วัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสียในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยวิธีนี้ คือ ผลตรวจที่ได้ หากพบแอนติเจนของเชื้อเพียงอย่างเดียว จะต้องทำการตรวจหาแอนติบอดีอีกครั้ง เมื่อเสี่ยงมาเกิน 21-30 วัน

4. การตรวจแบบ NAT หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า nucleic acid test (NAT) เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี การตรวจ NAT สามารถตรวจได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังการติดเชื้อ ซึ่งนับว่าตรวจได้ไวมาก และเป็นวิธีที่ไวที่สุดในขณะนี้ แต่ปัจจุบันใช้ตรวจกับผู้ที่มาบริจาคโลหิต หรืออาจสามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาล

ข้อแนะนำในการตรวจเอชไอวี คือ ควรตรวจเมื่อเสี่ยงมาแล้ว 30 วัน เพราะเป็นการตรวจในช่วงเวลาที่พ้นระยะฟักตัวของเชื้อมาแล้ว (Window period)* เพื่อความแม่นยำ และควรต้องมาตรวจซ้ำอีก 3 เดือนหลังจากการตรวจครั้งแรก

ระยะ Window Period อาจสามารถอธิบายได้ว่าเป็น ช่วงเวลาที่ผู้มีความเสี่ยงได้รับเชื้อมาแล้ว แต่ผลตรวจกลับไม่พบเชื้อนั่นเอง

สรุป ตรวจเอดส์แบบไหนได้ผลแม่นยำที่สุด
ในปัจจุบัน ตรวจเอดส์แบบไหนได้ผลแม่นยําที่สุด ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตามสามารถเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สามารถใช้การตรวจนั้นได้มากกว่า โดยหากเรียงตามลำดับการตรวจเอชไอวีที่สามารถตรวจได้ตามวันเวลาที่ได้รับความเสี่ยงมาจะพบว่า การตรวจ NAT เป็นวิธีที่สามารถตรวจได้ไวสุด คือ ได้รับความเสี่ยงมาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยที่วิธีอื่นอาจะต้องรอ 2-4 สัปดาห์

อย่างไรก็ตามการตรวจเอชไอวีแต่ละวิธี ควรคำนึงถึงข้อดี-ข้อเสียด้วย บางวิธีตรวจได้ไวมากๆ แต่อาจจะยังไม่พ้นระยะฟักตัวของเชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรกังวล เพราะอาจได้ผลลบปลอม และบางวิธีก็จำเป็นต้องตรวจพบทั้ง 2 อย่าง หากตรวจพบเพียงแอนติเจน ก็ต้องตรวจอีกครั้งเพื่อหาแอนติบอดีของเชื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาถึงความต้องการของผู้ตรวจเองว่าสะดวกใจการตรวจแบบไหน ความคุ้มค่าของการตรวจด้วยวิธีต่างๆ เพื่อประหยัดเวลา และประหยัดเงินที่จะต้องสูญเสียไป

การตรวจเอชไอวีท่านสามารถเดินทางไปตรวจได้ที่โรงพยาบาลฟรีปีละ 2 ครั้ง หากไม่สะดวกไปที่โรงพยาบาลก็สามารถไปตรวจได้ที่คลินิกนิรนาม แต่หากเขินอายที่จะไปตรวจก็สามารถหาซื้อชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองมาตรวจได้เช่นกัน